Skip to content
image

แกะโค้ดลับการตลาดฆ่าไม่ตาย! ในวันที่ Apple เกือบล้มละลาย Steve Jobs ทำไงให้กลับมายืนหนึ่ง!

รู้ไหมว่า กว่าจะมาเป็นแบรนด์ Apple ที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย!

เพราะกว่าที่บริษัท Apple Inc. จะสามารถก้าวขึ้นมายืนอยู่ระดับท็อปของบริษัทผู้นำด้านนวัตกรรม ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก Apple เคยเกือบจะล้มละลายตั้งแต่สมัยตั้งตัวแรก ๆ

บทความนี้เลยจะมาชวนคุณเจาะโค้ด (ไม่) ลับ การตลาดแบบฆ่าไม่ตาย กับ Steve Jobs ชายที่ได้ชื่อว่าเป็นศาสดา วิศวกร และนักการตลาดที่พลิกวิกฤตของ Apple จนกลายมาเป็นแบรนด์ที่ยืนหนึ่ง ดึงลูกค้าได้ติดหนึบนานหลายสิบปี มาดูกันว่ากว่าจะรอดวิกฤตผ่านมาถึงวันนี้ พี่ Jobs เขาทำยังไง?

? จุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง เป็นจริงใน “วันโกหก”

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แต่จุดเริ่มต้นของแบรนด์ใหญ่ระดับโลกนี้ เกิดขึ้นใน “วันโกหก” หรือวันที่ “1 เมษายน” ในปี 1976 โดยกลุ่มเพื่อน 3 คนอันประกอบไปด้วย Steve Jobs, Steve Wozniak และ Ronald Wayne ได้รวมตัวกันสร้างคอมพิวเตอร์ ในโรงรถของพ่อ Steve Jobs ในรัฐแคลิฟอร์เนีย (เกร็ดเล็ก ๆ นั่นจึงเป็นที่มาของงาน Apple Events ครั้งล่าสุดที่เปิดตัวด้วยฉากของการสร้างคอมพิวเตอร์ในโรงรถ) 

Apple จึงเริ่มต้นด้วยการผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ก่อนเป็นสินค้าชิ้นแรก โดยมี Jobs เป็นคนทำการตลาดให้ ซึ่งก็ใช่ว่าจะสำเร็จในทันที เขาต้องผ่านอุปสรรคชิ้นใหญ่เกือบล้มละลายในช่วงแรก ๆ เนื่องจากไม่ใช่ Apple แค่บริษัทที่เดียวที่ผลิตคอมพิวเตอร์ได้ และที่สำคัญ Jobs เองก็โดนดีดจากที่นั่ง CEO ไปช่วงนั้นด้วย

? โค้ดความสำเร็จที่ 1 : หาปัญหาให้เจอ

เดิมทีคอมพิวเตอร์ของ Apple รุ่นแรก ๆ คือ “แมคอินทอช” (macintosh) ที่ถึงแม้จะเจ๋งแค่ไหน แต่ด้วยคู่แข่งที่เริ่มพัฒนาแซงเข้ามาเรื่อย ๆ และการที่ Jobs หลุดออกไปจากบริษัทในช่วงนั้น ก็ดูจะส่งผลกระทบกับยอดขายอย่างเห็นได้ชัด ในระดับที่เรียกได้ว่าเกือบล้มละลายเลยทีเดียว

แต่สถานการณ์ก็กลับมาค่อย ๆ ดีขึ้น ในปี 1996 ที่ Jobs กลับมารับตำแหน่ง CEO อีกครั้ง คราวนี้เขากลับมากับไฟ ? ที่จะกู้วิกฤตของบริษัทกลับมาให้ได้

ซึ่งสิ่งที่เขาทำอย่างแรกก็คือการ “มองหาสาเหตุ” ของปัญหาให้เจอ โดยเขาได้เรียกประชุมทีมบริหารทั้งหมดของ Apple จนเจอกับจุดอ่อน ก็คือ Apple ยังมีผลิตภัณฑ์เพียงแค่คอมพิวเตอร์ไม่กี่รุ่นเท่านั้น แถมยังทั้งขาดทุน ทั้งเจอกับคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Microsoft ด้วย

? โค้ดความสำเร็จที่ 2 : ดึงจุดแข็งออกมาสู้

เมื่อเจอรอยรั่วทั้งหมดแล้ว จุดต่อไปก็คือการลุกขึ้นมาสู้กลับ โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในตำนาน ที่แสดงให้เห็นว่า Jobs สามารถใช้จุดแข็งเซฟบริษัทไว้ได้ในตอนนั้น ก็คงเป็น “iMac” หรือคอมพิวเตอร์รุ่นแรก ๆ ที่ปรับดีไซน์ใหม่ทั้งหมด ให้ลดความเป็นเหลี่ยมลง ดูใช้งานง่าย ทั้งภายในและภายนอก และยังเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีหลากหลายสีสัน ค่อนข้างแปลกตาจากคู่แข่งทั่วไปอีกด้วย

ซึ่งเรื่องของดีไซน์นี้เอง ก็เป็นจุดแข็งที่ Apple ทำได้ดีจริง ๆ จนถึงตอนนี้เราจะเห็นได้ว่าถ้าเราเห็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ที่ได้ เราจะรู้ได้ว่า “นี่ของ Apple” ส่วนอีกจุดหนึ่งก็คือประสิทธิภาพภายในที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้เป็นวัตถุดิบที่ Apple เคยทำได้ดี และวันนี้มันจะกลับมาช่วยบริษัทอีกครั้ง

? โค้ดความสำเร็จที่ 3 : ฟังผู้บริโภค

ความสำเร็จของ iMac คงจะไม่ได้ปังขนาดนี้ ถ้าทีมงานไม่ได้ทำการบ้านมาดี เพราะหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ iMac ออกมาโดนใจ ก็มาจากการที่ทีมงานวิเคราะห์ หาข้อมูลจากผู้บริโภคว่าคอมพิวเตอร์ที่พวกเขาอยากได้เป็นแบบไหน เหมือนกับเวลาหา insight เก็บข้อมูลผู้บริโภคก่อน

ซึ่งหลังจากที่พบว่าผู้บริโภคอยากได้คอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ต ที่ไม่ต้องต่ออุปกรณ์ให้ยุ่งยาก แล้วเอามาปรับเข้ากับจุดแข็งด้านดีไซน์นี้ จึงทำให้ได้ผลตอบรับที่ดีตามมา โดยเจ้าคอมพิวเตอร์หลากหลายสีนี้ มียอดขายภายใน 5 เดือนแรกทะลุไปถึง 800,000 เครื่อง กลายเป็นสินค้าฮิตติดลมบนที่พลิกชีวิตให้ Apple ทันที และกลายเป็นหนึ่งในสินค้าชิ้นสำคัญที่ได้ชื่อว่าช่วยชีวิตของ Apple ด้วย

จะเห็นได้ว่าโค้ดลับความสำเร็จในตอนนั้นเป็นสิ่งที่แบรนด์ของเราลองนำไปใช้ได้ไม่ยาก เพราะต่างก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกแบรนด์ควรจะปรับใช้ นั่นคือ การมองเห็นปัญหา ยอมรับปัญหา และหาทางแก้ โดยอาศัยการเก็บข้อมูล ฟังตลาด หาจุดสนใจจากลูกค้าจริง ๆ แล้วดึงจุดเด่นของเรามาสร้างสิ่งใหม่ ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะช่วยเซฟธุรกิจของเราให้ดังเปรี้ยงได้อีกครั้ง

? สร้างความแกร่งการตลาดกันยาว ๆ 

ซึ่งนอกจากการพลิกวิกฤตยุค iMac แล้ว สิ่งที่ทำให้การตลาดของ Apple ยังคงแข็งแกร่งจนถึงทุกวันนี้ มีสื่อการตลาดดัง ๆ วิเคราะห์ไว้หลายประเด็นด้วยกัน โดยบทความวิเคราะห์ส่วนหนึ่งจาก Forbes ได้สรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับเคล็ดกับการตลาดที่น่าสนใจไว้ดังนี้

  1. Apple สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าแบบ Ecosystem : ซึ่งเป็นสิ่งที่ Apple ทำได้แข็งแกร่งมาก จะสังเกตได้ว่าทุกผลิตภัณฑ์ของ Apple มีความเชื่อมโยง ให้การใช้งานที่เชื่อมต่อกัน สาวก Apple หลายคนมีสินค้าของ Apple มากกว่า 1 ชิ้น เช่น มี iPhone แล้วต้องมี iPad ลามไป Macbook ต่อด้วย Apple Watch เพราะทั้งหมดนี้ให้ประสบการณ์ใช้งานแบบเชื่อมต่อกันดี เป็น Ecosystem ที่ชวนให้คนซื้อต่อไป
  2. วางแผนการตลาดและการขายโฟกัสที่ลูกค้า, ไม่ใช่สินค้า : Apple ตั้งเป้าลูกค้า B2B ไว้ 4 ด้าน ได้แก่ การศึกษา ภาครัฐ SME และองค์กร โดยบริษัทจะจัดทีมขายให้เข้ากับความสามารถเบื้องหลังกับเป้าหมายของทีม เพื่อให้พนักงานขายเข้าใจลูกค้า และสามารถนำเสนอโซลูชันเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด ดังนั้นพวกเขามองการขายตั้งต้นจากลูกค้า ไม่ใช่จากสินค้า
  3. ควบคุมราคา : จะเห็นว่า Apple พยายามรักษาระดับราคาไว้เสมอ ไม่เคยลดจนเกินเหตุ เพื่อรักษาความหรูของแบรนด์ และรักษาลูกค้าไว้ด้วยการนำเสนอประสบการณ์ใช้งาน แทนที่จะใช้ราคาเป็นตัวล่อ

และนี่คือตัวอย่างเหตุผลว่าทำไม Apple ถึงยังสามารถเติบโตยืนหนึ่งในตลาดได้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งสิ่งที่ Jobs เริ่มต้นไว้สะท้อนให้เห็นว่าการหาจุดอ่อนเพื่ออุดรอยรั่ว ฟังตลาด และลงมือทำสิ่งใหม่ ยังคงเป็นแกนหลักที่ส่งผลดีอยู่เสมอ ประกอบกับการพัฒนาของแบรนด์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ใส่ใจในประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าเป็นที่ตั้ง ทั้งหมดนี้จึงทำให้ Apple เป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง

? ขอบคุณข้อมูลจาก
https://bit.ly/3vmL3OQ
https://bit.ly/3pmU2Me
https://bit.ly/3JULW5c

#Createx #CreatexHouse #Apple #iMac #SteveJobs #AppleEvents #AppleMarketing

ส่งข้อความให้มีลูกเล่นต้องรู้จักรูปแบบ   Broadcast Message ของ LINE OA
PETSUMER MARKETING กลยุทธ์มัดใจนุดไม่ให้หยุดเปย์
Facebook Ads Size 2024 ครบทุกฟอร์แมต เซฟไว้ได้ใช้แน่!